
สำหรับหลายๆ คนที่เคยชมภาพยนตร์ วิทยาศาสตร์ – Si-fi กันมาบ้างคงคุ้นเคยกับเทคโนโลยีหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘Hologram’ ถึงแม้ในอดีตความน่าสนใจของเทคโนโลยีชนิดนี้จะอยู่แค่ในโลกของภาพยนตร์เท่านั้น หากในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ผู้เก่งกาจหลายท่าน ต่างช่วยกันระดมสมองเพื่อสร้าง ‘Hologram’มาใช้งานได้ในโลกของความเป็นจริง
ทำความรู้จักกับ ‘Hologram’
Hologram เป็นเทคโนโลยีที่สร้างภาพหนึ่งขึ้นมาให้เกิดมิติ ประกอบด้วยความลึก ความนูน โดยมันสร้างขึ้นด้วยกระบวนการ ‘Holography’ อย่างในสมัยก่อนคุณจะเห็นรูปภาพต่างๆ เป็นแบบ 2 มิติ ยกตัวอย่างเช่น รูปในใบปลิวโฆษณา, รูปติดบัตร เป็นต้น แต่ในปัจจุบันจากกระบวนการ ‘Holography’ จะทำให้ได้ภาพ Hologram ในรูปแบบแสง ลอยตัวอยู่ในอากาศ โดยคุณสามารถมองได้อย่างรอบด้านเสมือนจับต้องได้จริง
ความจริงแล้วเทคโนโลยีชนิดนี้ เกิดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หากแต่องค์ประกอบต่างๆ ยังไม่มีความพร้อมกับการนำไปใช้งาน จริง แต่จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งในส่วนของ ฮาร์ดแวร์ , ซอฟต์แวร์ , แพลตฟอร์มต่างๆ จึงทำให้ขั้นตอนพัฒนามีการก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยี 3 มิติ มาผสมผสานเข้ากับการเรนเดอร์ภาพเสมือนจริง บวกกับขั้นตอนทำแอนิเมชัน เมื่อนำ 3 ปัจจัยหลักเหล่านี้มารวมกัน ก็จะสามารถสร้างภาพ 3 มิติ ที่มีความน่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง คือ เทคโนโลยี AR , VR และ Hologram ซึ่งมันเป็นการผสมผสานที่ลงตัว สร้างความชัดเจนในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แล้วมันมีประโยชน์อย่างไร ?
เทคโนโลยีนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาในภายภาคหน้า แล้วแต่ว่ามนุษย์จะใส่ไอเดียเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับงานด้านต่างๆ อย่างไร ที่เห็นเด่นชัดในตอนนี้ก็คือตอบโจทย์ธุรกิจต่างๆ ที่นำเสนอตัวผลิตภัณฑ์ ในรูปแบบสมจริงก่อนที่จะตัดสินใจนำไปผลิต เป็นต้น รวมทั้งปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในอดีต เช่น ขั้นตอนนำเสนอผลิตภัณฑ์ , ขั้นตอนสาธิต หรือแม้กระทั่งในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนความล้ำเลิศอีกอย่างหนึ่งก็คือ HoloLens สามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่าน Internet ทำให้ไม่ว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะอยู่คนล่ะแห่งก็สามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการประหยัดทั้งค่าเดินทางและไม่เสียเวลาอีกด้วย
ภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Star War ก็เคยมีฉากผู้นำจากดาวต่างๆ ประชุมร่วมกันผ่าน Hologram นอกจากนี้ในการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานออกแบบ, วิศวกร, เจ้าของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนลูกค้า ก็สามารถนำเสนอความคิดร่วมกันในการพัฒนาสินค้า หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ ได้อย่างเห็นภาพทันที และยังใช้ในงานด้านการศึกษาทางไกล, งานการแพทย์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ร่วมกัน ทั้งระหว่างคนไข้และหมอ หรือหมอกับหมอ ด้วยกัน จากตัวอย่างเบาๆ เช่นนี้คุณก็คงพอเห็นภาพแล้วว่า ‘Hologram’ สร้างประโยชน์ได้อย่างไร